งานเชื่อมแก๊ส อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมแก๊ส อันตรายที่ต้องระวัง

งานเชื่อมแก๊ส อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมแก๊ส อันตรายที่ต้องระวัง

งานเชื่อมแก๊ส คืองานช่างรูปแบบหนึ่งที่ใช้การเผาไหม้ของแก๊สอเชติลีนผสมกับแก๊สออกซิเจนโดยใช้เปลวไฟจากการเผาไหม้บริเวณปลายหัวเชื่อม สำหรับละลายโลหะที่ต่อจากนั้นจะเติมลวดเชื่อมลงไปในบ่อโลหะที่ถูกหลอมละลาย อันนำไปสู่แนวเชื่อมตามแบบที่วางไว้ ปกติแล้ว งานเชื่อมแก๊สจะใช้สำหรับงานเชื่อมโลหะที่ไม่มีความหนาแน่นสูง หรือเป็นงานเบา อาทิ งานเชื่อมท่อเครื่องปรับอากาศ งานเชื่อมสำหรับซ่อมแซมตัวถังรถยนต์ งานเชื่อมท่อไอเสีย หรืองานเชื่อมท่อที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมเคมีทั่วไป

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมแก๊ส

ในงานเชื่อมแก๊สจะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือช่างจำนวนมากเพื่อให้งานสำเร็จ หรือสามารถหาซื้อชุดเชื่อมแก๊สแบบสนามใช้งานก็ได้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ถังออกซิเจน

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกักเก็บแก๊สออกซิเจนซึ่งมีคุณสมบัติช่วยจุดไฟในการหลอมเหลว โดยออกซิเจนจะต้องใช้ร่วมกับแก๊สอะเซทิลีนในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะสามารถจุดไฟที่ใช้ในงานเชื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ใช้งานถังออกซิเจนจะต้องใช้หัวปรับออกซิเจนเพื่อควบคุมอัตราแก๊สที่เหมาะสม

2. ถังอะเซทิลีน

เป็นแก๊สที่ใช้งานร่วมกับออกซิเจน มีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อไฟสำหรับการเชื่อมโลหะ ผู้ใช้งานจะต้องคอยควบคุมหัวปรับอะเซทิลีนเช่นเดียวกับการใช้งานถังออกซิเจน

3. มาตรวัดความดัน

มีจุดเด่นที่ระบบตัดการไหลเวียนของแก๊สช่วยลดแรงดันสูงที่อาจมีมากเกินไปภายในถังแก๊ส

4. มาตรวัดออกซิเจน

เป็นระบบสำหรับตัดการไหลเวียรของออกซิเจนแรงดันสูง โดยผลักแรงดันสูงออกไปทางชุดควบคุมทางออกแก๊ส ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับการใช้งานถังแก๊ส

5. มาตรวัดอะเซทิลีน

เช่นเดียวกับมาตรวัดออกซิเจน อุปกรณ์ดังกล่าวใช้สำหรับควบคุมความดันแก๊สอะเซทิลีน ทำให้แรงดันภายในถังแก๊สซึ่งในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการใช้งาน

6. สายยางลำเลียงแก๊ส

อุปกรณ์ชนิดนี้มีลักษณะเป็นสายยางที่เชื่อมระหว่างชุดหัวปรับของถังแก๊สออกซิเจนและถังแก๊สอะเซทิลีน ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดสายเดี่ยว และสายคู่

7. หัวผสมแก๊ส (ทอร์ช)

ใช้สำหรับเชื่อมโลหะด้วยการใช้แก๊สจากถังแก๊สออกซิเจนและถังแก๊สเชื้อเพลิง

8. หัวเชื่อม (หัวทิพ)

ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดทิศทางและปริมาณเปลวไฟ อยู่ในส่วนปลายสุดของท่อทางผ่านแก๊สที่ผสมเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบชิ้นเดียว (ใช้หัวทิพชิ้นเดียวประกอบกับทอร์ชเชื่อม) และแบบแยกชิ้น (ใช้หัวทิพ 2 ชิ้น คือ ส่วนหัวและปลายประกอบกัน และใช้เกลียวสวมเข้ากับทอร์ชเชื่อมเพื่อใช้งาน)

9. อุปกรณ์จุดไฟแก๊ส

ใช้สำหรับสร้างประกายไฟสำหรับจุดไฟบริเวณปลายหัวทิพเชื่อมเพื่อใช้สำหรับงานเชื่อมประเภทต่าง ๆ

การเชื่อมแก๊ส อันตรายที่ต้องระวัง

การเชื่อมแก๊สเป็นหนึ่งในงานช่างที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังสูง เนื่องจากอุบัติเหตุจากแก๊สรั่วไหอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ไฟย้อนกลับ หรือการระเบิดที่ทอร์ชซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรืออัคคีภัยได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ทำงานเชื่อมแก๊สจำเป็นอย่างมากที่จะต้องระมัดระวังปรากฎการณ์ Flashback ให้ดี เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เหตุการณ์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีโอกาสได้ตั้งตัวหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

รู้จักปรากฎการณ์ไฟย้อนกลับ (Flashback)

ไฟย้อนกลับหรือแฟลชแบ็ค คือ ปรากฎการณ์ที่ไฟจากทอร์ชย้อนกลับผ่านตัว Regulator ไปยังถังแก๊สเชื้อเพลิง ก่อนที่แก๊สออกซิเจนจะไหลตามเข้าไปทำให้เกิดปฏิกิริยาการลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง (sustain combustion) โดยปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดแฟลชแบ็ค ประกอบด้วย

  • ทอร์ชถูกประกอบขึ้นอย่างผิดวิธีหรือไม่ครบองค์ประกอบ
  • การระบายแก๊สที่หลงเหลืออยู่ในสายแก๊สทำอย่างผิดวิธี ทำให้แก๊สที่ระบายไม่หมดทำปฏิกิริยากับประกายไฟนำไปสู่การเกิด Flashback
  • ใช้งานความดันไม่ถูกต้องตามหลักการ
  • ใช้หัวทิพของทอร์ชผิดวิธี
  • ทางเดินของแก๊สภายในท่อทอร์ชมีการอุดตัน ทำให้แก๊สไหลเวียนไม่สะดวก
  • ตรวจสอบสายแก๊สไม่ดีทำให้ไม่พบว่าสายแก๊สมีการชำรุดทำให้แก๊สรั่วไหลนำไปสู่เพลิงไหม้ได้
  • หัวทิพกับชิ้นงานที่เชื่อมมีระยะห่างคลาดเคลื่อน
  • การรั่วบริเวณเรกูเลเตอร์, โฮส หรือคอนเนคชั่นมีส่วนทำให้ความดันลดลง และนำไปสู่ภาวะที่แก๊สไหลย้อนกลับมาที่ด้านหนึ่งของทอร์ช ทำให้เกิด Flashback

ลวดเชื่อมแก๊สมีกี่ชนิด อะไรบ้าง

ปัจจุบันลวดเชื่อมแก๊สที่นิยมใช้ในงานเชื่อมประกอบด้วย 6 ชนิด ดังนี้

  1. ลวดเชื่อมเหล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-6 มม. ยาว 900 มม. เป็นเส้นกลมเคลือบด้วยทองแดง มีคุณสมบัติสามารถป้องกันสนิมได้
  2. ลวดเชื่อมเหล็กหล่อ มีความยาว 610 มม. โดยมีหลายชนิด อาทิ ชนิดเปลือย ชนิดเคลือบด้วยโมลิบลินัมและนิเกิล มีลักษณะเป็นเส้นกลมและสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  3. ลวดเชื่อมโลหะผสม นิยมใช้ในงานเชื่อมโลหะผสม มีลักษณะเป็นเส้นกลม
  4. ลวดเชื่อมสแตนเลส นิยมใช้ในงานเชื่อมโลหะสแตนเลสโครม-นิเกิล มีลักษณะเป็นเส้นกลม
  5. ลวดเชื่อมทองเหลือง เป็นลวดที่ออกแบบมาสำหรับการเชื่อมทองเหลือง มีให้เลือกหลายชนิดและหลายขนาด มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี มีควันในการเชื่อมน้อย
  6. ลวดเชื่อมอะลูมิเนียม นิยมใช้ 2 แบบ ได้แก่แบบเปลือย ยาว 900 มม. และแบบเคลือบ ยาว 700 มม.เส้นเลือดชนิดนี้มีลักษณะกลม นิยมใช้ในงานเชื่อมอะลูมิเนียม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับงานเชื่อมแก๊ส

ในงานเชื่อมแก๊สทุกครั้ง หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว จะต้องใช้เปลวไฟเผางานที่ต้องการเชื่อมบริเวณแนวที่ต้องการเชื่อมจนกลายเป็น ‘บ่อละลาย’ จากนั้นก็จะขยับหัวเชื่อมให้ความร้อนไหลไปตามชิ้นงานทั้งหมด แล้วจึงเติมลวดเชื่อมลงไปสำหรับประสานชิ้นงานที่ต้องการ ก่อนจะเคลื่อนหัวเชื่อมไปอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องให้ความสำคัญกับความกว้างของหัวเชื่อมที่เหมาะสมสอดคล้องกับขนาด รูปร่าง และความหนาของชิ้นงานด้วยเช่นกัน