ฉนวนห้องเย็น และคุณสมบัติทางกายภาพที่น่ารู้
ปัจจุบันทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้มีการใช้ห้องเย็นในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์, ผัก, ผลไม้ และเวชภัณฑ์ประเภทต่างๆ อย่างแพร่หลาย
องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับห้องเย็นก็คือ ฉนวนห้องเย็น ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันความร้อน จากภายนอกห้องเย็น ความร้อนจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ในห้องเย็นโดยรอบจะซึมผ่านแผ่นผนัง, เพดาน และพื้นห้องอยู่ตลอดเวลา ฉนวนกันความร้อนที่นิยมใช้ในการสร้างห้องเย็นมี 2 ประเภท คือ
- ประเภทที่ 1 ฉนวน Polystyrene (PS) ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน 0.25 Btu.in./ft2 h oF
- ประเภทที่ 2 ฉนวน Polyurethane (PU) ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน 0.15 Btu.in./ft2 h oF
เมื่อเลือกใช้ฉนวน Polyurethane (PU) บุห้องเย็น ขนาดความหนาของฉนวนจะบางกว่า 3 ต่อ 5 ส่วน (ดูจากตารางที่1) เนื่องจากค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำกว่าฉนวน Polystyrene (PS) แต่ราคาของฉนวน PU จะสูงกว่าฉนวน PS 25% ต่อพื้นที่โดยเฉลี่ย ซึ่งฉนวน PU จะเหมาะสำหรับงานห้องเย็นเล็ก เพราะจะได้พื้นที่ภายในห้องเพิ่มขึ้น
ส่วนห้องเย็นขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตรม. ขึ้นไป มักจะนิยมเลือกใช้ Polystyrene (PS) เนื่องจากผลต่างของพื้นที่ภายในห้องเย็นอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียง 5% เท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายลงทุนการก่อสร้างห้องเย็นด้วยฉนวน Polystyrene (PS) จะมีราคาต่ำกว่า Polyurethane (PU) 20% โดยประมาณ
การสร้างห้องเย็นในปัจจุบัน จะใช้ผนังห้องเย็นสำเร็จรูป ซึ่งฉนวนแผ่นโฟมกันความร้อนทั้งสองด้านจะมีแผ่นเหล็กเคลือบสีป้องกันสนิมประกบติดแน่นเป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งสามารถเพิ่มความแข็งแรงแก่แผ่นฉนวน จนสามารถประกอบเป็นโครงสร้างของห้องเย็นได้โดยตัวแผ่นฉนวนเอง โดยไม่ต้องก่อผนังอิฐ เพื่อยึดเกาะแผ่นฉนวนห้อง แผ่นฉนวนสำเร็จรูปที่ผลิตจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จะมีขนาดน้ำหนักที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบวัสดุที่นำมาผลิตเป็นแผ่นสำเร็จรูป (ดูตารางที่ 2 และ 3)