ข้อควรระวัง ในการติดตั้งท่อความดัน ในงานติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

ท่อความดันในการติดตั้งแอร์นั้น มีหลายประเภท เช่น ท่อบรรจุสารทำความเย็น(น้ำยาแอร์) ท่อแก๊สออกซิเจนที่ใช้เชื่อมท่อ ท่อแก๊สในโตรเจนสำหรับงานหารอยรั่วของระบบ เพื่อให้ช่างแอร์เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ควรระมัดระวังตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้

1. ควรรู้ประเภทของท่อบรรจุน้ำยาแอร์ ก่อนใช้งาน

ท่อบรรจุสารทำความเย็น สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทตามการใช้งานคือ

  1. ท่อแบบใช้งานได้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำท่อแบบนี้มาใช้ในการถ่ายโอนสารทำความเย็น แต่เมื่อสารทำความเย็นหมด ควรระบายสารทำความเย็นทิ้ง แล้วปิดปลายท่อ แล้วจึงนำไปทิ้ง
  2. ท่อแบบนำมากลับใช้ใหม่ได้ (Refillable) เป็นท่อชนิดพิเศษ แข็งแรง ทนทาน ราคาสูงกว่า เพราะใช้โลหะที่มีความทนทานและหนากว่าผลิต เมื่อใช้หมด สามารถนำมาใช้เติมน้ำยาแอร์ใหม่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนท่อ

2. ห้ามเติมหรือบรรจุ สารทำความเย็นเกิน 80% ของความจุท่อ

เพราะว่าเมื่อน้ำยาแอร์ได้รับความร้อน จะทำให้เกิดการขยายตัวจนเต็มท่อ เพราะฉะนั้นควรเหลือพื้นที่ไว้ซัก 20% ของปริมาตรท่อเพื่อป้องกันการระเบิด จากแรงดันขณะใช้งาน

3. ท่อสารทำความเย็น จะต้องติดตั้ง วาวล์ลดความดันที่ด้านบนของท่อ

เพื่อป้องกันความดันภายในท่อ ไม่ให้สูงเกินปกติ และหากเกิดว่ามีความร้อนสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำยาแอร์ในท่อจะถูกป่อยออกมา เพื่อป้องกันการระเบิด

4. หากจะตรวจรอยรั่วด้วยไนโตรเจน จะต้องใช้เกจ์เรกูเลเตอร์

เพื่อควบคุมแรงอัด ไม่ให้เข้าสู่ระบบโดยตรง และป้องกันการระเบิดภายในท่อ จำเป็นต้องวัดแรงอัด เพื่อควบคุมปริมาณไนโตรเจนทุกวินาที

5. ห้ามตรวจรอยรั่วของระบบ โดยใช้แก๊สออกซิเจน

เพราะออกซิเจนเป็นแก๊สที่มีผลต่ออุปกรณ์ และสารเคมีในเครื่องปรับอากาศสูงมาก รวมทั้งยังช่วยในการติดไฟ และสุ่มเสี่ยงต่อการระเบิดได้ง่ายมาก

6. ในการทำแวคคั่ม หรือทำระบบสูญญากาศ ไม่ควรใช้คอมเพรสเซอร์ปั๊มสูญญากาศด้วยตัวเอง

ควรจะใช้เครื่องแวคคั่มดีที่สุด เพื่อป้องกันอันตราย และเพื่อป้องกันคอมเพรสเซอร์เสียหาย