แม็กเนติกคอนแทกเตอร์ (Magnetic Contactor)

แม็กเนติกคอนแทกเตอร์ (Magnetic Contactor) เป็นสวิตซ์อีกชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นขดลวดหรือคอยล์ ซึ่งเมื่อป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าในขดลวดแล้วจะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นหน้าสัมผัสของตัวแม็กเนติคอนแทกเตอร์ ทำหน้าที่ตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้า กำลังที่ป้อนเข้าโหลด หลักการทำงานของแม็กเนติกคอนแทกเตอร์คือ เมื่อป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าในขดลวดจะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้นรอบขดลวด มีอำนาจดูดเหล็กอาร์มาเจอร์ (Armature) ซึ่งแกนเหล็กนี้ปลายข้างหนึ่งจะต่ออยู่กับหน้าสัมผัสเคลื่อนที่ (Moving Contact) และปลายอีกข้างหนึ่งวางอยู่บนสปริง ซึ่งจะคอยผลักแกนเหล็กอาร์มาเจอร์ให้หน้าสัมผัสจาก เมื่อขดลวดเกิดสนามแม่เหล็กและมีอำนาจมากกว่าแรงดันสปริง แกนอาร์มาเจอร์จะถูกดูด ทำให้หน้าสัมผัสต่อกัน และเมื่อตัดกระแสไฟฟ้าที่ป้อนเข้าขดลวด อำนาจแม่เหล็กรอบขดลวดจะหมดไป แรงดันสปริงจะผลักแกนเหล็กอาร์มาเจอร์ให้หน้าสัมผัสจากออก

หน้าสัมผัสของแม็กเนติกคอนแทกเตอร์ในหนึ่งตัวอาจจะมีขั้วเพียงขั้วเดียว หรือ 2 ขั้ว หรือ 3 ขั้วก็ได้ และหน้าสัมผัสอาจเป็นแบบปกติเปิดทั้งหมด หรืออาจจะมีทั้งหน้าสัมผัสปกติเปิดและปกติปิดสลับกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบและวงจรการควบคุม

การเลือกแม็กเนติกคอนแทกเตอร์เพื่อใช้งานต้องคำนึงถึงหลักเบื้องต้นดังนี้

  1. ขนาดของแรงเคลื่อนไฟฟ้าที่ป้อนเข้าขดลวดของแม็กเนติกคอนแทกเตอร์ จะมีขนาด คือ 6 โวลต์ DC, 12 โวลต์ DC, 24 โวลต์ AC, 48 โวลต์ AC, 220 โวลต์ AC และ 380 โวลต์ AC เป็นต้น
  2. ขนาดการทนกระแสของหน้าสัมผัส จะขึ้นอยู่กับการกินกระแสของโหลดที่ต้องการควบคุมซึ่งมีขนาดคือ 20, 25, 30, 40, 50 และ 60 แอมแปร์ หรือมากกว่าขึ้นไป เป็นต้น
  3. จำนวนขั้วของหน้าสัมผัส จะขึ้นอยู่กับจำนวนสายไฟที่ต้องการควบคุมการตัด-ต่อ เช่น ถ้าต้องการตัด – ต่อวงจรที่มีสายไฟ 3 เส้น ก็ต้องใช้หน้าสัมผัส 3 ขั้ว เป็นต้น
  4. ชนิดของหน้าสัมผัสจะขึ้นอยู่กับโหลดที่ต้องการใช้งาน และขนาดของกระแสไฟ