ความแตกต่างระหว่างน้ำยาแอร์แบบ R22, R410a และ R32

ความแตกต่างระหว่างน้ำยาแอร์แบบ R22, R410a และ R32

สารทำความเย็น (Refrigerant) หรือ เรียกอีกอย่างว่า “น้ำยาแอร์" เป็นสารเคมีที่อยู่ในแอร์ ซึ่งมีไว้ใช้สร้างความเย็นให้กับแอร์ โดยน้ำยาแอร์ปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยจะมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ R22, R410A และ R32 ซึ่งน้ำยาแอร์แต่ละชนิดนั้นก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยการเลือกใช้จะต้องคำนึงถึงค่า ODP (ดัชนีวัดการทำลายโอโซน), GWP (ดัชนีชี้วัดผลกระทบภาวะโลกร้อน), Cooling Capacity (ประสิทธิภาพการทำความเย็น) ซึ่งแต่ละค่ามีผลต่อการทำความเย็นและสภาพแวดล้อม ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น ลองติดตามกันได้เลย

สารทำความเย็น R22

หลายท่านคงคุ้นเคย เป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำยาแอร์ R22 เป็นน้ำยารุ่นที่เก่าที่สุด และถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นิยมนำมาใช้กับแอร์ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งมีค่า ODP = 0.05 ค่า GWP = 1810 และมีค่า Cooling Capacity = 100

ข้อดีของสารทำความเย็น R22

  • - สาร R22 ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
  • - สาร R22 ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม A1 คือ เป็นสารที่ไม่ติดไฟ จึงมีความปลอดภัยในการใช้งาน

ข้อเสียของสารทำความเย็น R22

  • - สาร R22 มีค่า ODP สูง ซึ่งส่งผลต่อการทำลายชั้นโอโซนสูง
  • - สาร R22 มีค่าที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก
  • - สาร R22 หากรั่วออกมาสู่อากาศจำนวนมากจะส่งผลอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

สารทำความเย็น R410A

เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ fluorocarbon คือ สารทำความเย็นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทดแทนสารทำความเย็นชนิด R22 และราคาค่อนข้างสูงกว่า โดยมีค่า ODP = 0 มีค่า GWP = 2090 และมีค่า Cooling Capacity = 141

ข้อดีของสารทำความเย็น R410A

  • เป็นสารทำความเย็นที่ไม่ติดไฟ
  • สาร R410A มีค่า ODP ไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ

ข้อเสียของสารทำความเย็น R410A

  • มีค่า GWP สูง ซึ่งเป็นตัวทำลายชั้นโอโซนและการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก
  • กรณีที่น้ำยาเกิดรั่วในระบบเครื่องปรับอากาศ R-410A ต้องถ่ายทิ้งให้เป็นศูนย์ แล้วจึงเติมเข้าไปใหม่อีกรอบ ไม่สามารถเติมเพิ่มจากเดิมเข้าไปได้

สารทำความเย็น R32

เป็นสารทำความเย็น รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยลดการปล่อยสาร CFC ที่ทำลายชั้นบรรยากาศ R32 มีแรงดันเท่ากับ R410A แต่สูงกว่า R22 ประมาณ 1.6 เท่า มีค่า ODP = 0 มีค่า GWP = 675 และมีค่า Cooling Capacity = 160

ข้อดีของสารทำความเย็น R32

  • สาร R32 ใช้สารทำความเย็นน้อยกว่าสารรุ่นเดียวกัน
  • จุดเดือดของน้ำยา R32 มีค่าต่ำ ทำให้คอมเพลสเซอร์ทำงานเบาสุด ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำความเย็นดีและเร็วกว่า R22 และ R410A
  • ประหยัดพลังงานมากที่สุด
  • ราคาถูก และมีค่า GWP ที่ต่ำกว่าสาร R410A

ข้อเสียของสารทำความเย็น R32

  • สาร R32 จัดอยู่ในกลุ่ม A2 ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้เล็กน้อย ต่างจากสารชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่ม A1 แต่การที่สาร R32 จะติดไฟได้นั้น ต้องอาศัยความเข้มข้นของน้ำยาพอสมควร หากน้ำยามีความเข้มข้นน้อยก็จะติดไฟได้น้อย หากเข้มข้นมากก็จะติดไฟได้มาก จึงให้นำมาใช้ในแอร์ขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 24000 บีทียู

ในปัจจุบันรัฐบาลรณรงค์ให้หันมาใช้ น้ำยาแอร์ชนิด R32 มากขึ้น และเลิกใช้น้ำยา R22 ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้สาร R22 อีกทั้งสารทำความเย็น R32 ยังส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยกว่าสารทำความเย็นในปัจจุบัน อย่างสาร R410A ถึง 3 เท่า และยังมีประสิทธิภาพทำความเย็นมากกว่า R22 ถึง 60% แต่สำหรับแอร์ที่ยังใช้น้ำยา R22 อยู่ ก็ยังสามารถใช้ได้เหมือนเดิม